ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากงแห่งนี้เกิดจากความศรัทธา
และความเชื่อของชาวจีนที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ขึ้นเรือที่ท่าน้ำทรงวาดซึ่งแต่เดิมเป็นท่าน้ำที่ใช้ในการขนส่งสินค้า
และมีการติดต่อกับชาวต่างประเทศจำนวนมาก
ชาวจีนที่อพยพมาต้องการกำลังใจในการทำงานในสถานที่ที่ไม่ใช่บ้านเกิดของตนเอง
จึงได้ตั้งศาลเจ้าเพื่อเป็นที่เคารพบูชา
และเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ขอให้อำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องคุ้มครองในการดำเนินชีวิตประจำวัน
และทำกิจการค้าโดยเฉพาะชาวจีนแต้จิ๋ว
ทั้งนี้เนื่องจากการเดินทางออกจากประเทศจีนในสมัยก่อนได้รับความลำบากมาก
ดังนั้นการนับถือเทพเจ้าเพราะเชื่อว่าเทพคุ้มครอง และช่วยเหลือ
เมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรคหรือปัญหา
ทำให้ตนมีความปลอดภัยประสบความสำเร็จในการทำงาน
จึงเปรียบเสมือนกำลังใจที่ทำให้เกิดความมุมานะ
และอดทนต่ออุปสรรคในการปฎิบัติงาน
ปรากฏหลักฐานซึ่งเป็นระฆังใบใหญ่ในศาลเจ้ามีตัวอักษรจีนจารึกไว้ว่าสร้างในปีที่ 4
ของกษัตริย์เต้ากวงแห่งราชวงศ์ซิง ประมาณปี พ.ศ. 2367
ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรีของไทย
จากแผนที่ไฟไหม้ตำบลสำเพ็งวันที่ 4 เมษายน ปี พ.ศ. 2449
แสดงให้เห็นว่าแต่เดิมศาลเจ้าตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของศาลปัจจุบัน
ศาลปัจจุบันเป็นศาลที่สร้างขึ้นใหม่มีหลักฐานบันทึกจากแผ่นหินที่ติดอยู่กับบริเวณกำแพงด้านนอกซ้ายมือของตัวอาคาร
บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการบูรณะศาลเจ้าสรุปได้ความว่า
ศาลแห่งนี้เป็นศาลที่ชาวจีนแต้จิ๋วโพ้นทะเลในเมืองไทยให้ความเคารพอย่างสูง
มิงก๊กปีที่ 5 (พ.ศ. 2460) ได้มีการสร้างใหม่ด้วยเงินบริจาคจากคณะกรรมการ และผู้มีจิตศรัทธา รวมเป็นเงิน 36,000 บาท
ใช้เวลา 28 ปี จึงแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปีมิงก๊กที่ 32
(พ.ศ. 2488) ปัจจุบัน (พ.ศ. 2552) อาคารแห่งนี้นี้มีอายุ 64
ปี และในปี พ.ศ. 2550 ได้มีการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่
และสร้างซุ้มประตูศาลเจ้าเพื่อเฉลิมพระเกียรติ
เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
มีพระชนม์พรรษา 80 พรรษา โดยสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย
สมัยที่ 34 ภายใต้การนำของนายกสมาคมฯ นายวิสิทธิ์
ลีละศิธร พร้อมด้วยผู้มีจิตศรัทธา อีก 7 ท่าน จัดสร้างถวายด้วยงบประมาณการก่อสร้าง 10 ล้านบาท
ตามแผ่นจารึกไว้ที่ผนังอาคารส่วนหน้า
ด้านซ้ายมือเมื่อผ่านธรณีประตูศาลเจ้าเข้ามา
(เนื่องจากศาลเจ้าแห่งนี้อยู่ในความดูแลของสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย) |